วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์ประธานจัดสร้างวัด
เรา ตูน และน้องอ้อม เดินทางมาถึง วัดญาณสังวราราม เวลาประมาณ 14.30 น. ฝนตกหนักเลย จอดรอในรถสักพัก ฝนเริ่มซา เราจึงกางร่มกันออกไป
ประวัติวัดญาณสังวราราม
วัดญาณสังวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สังกัดธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นองค์ประธานจัดสร้างวัด เมื่อปี 2519 นายแพทย์ขจร และคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา ได้ถวายที่ดินแด่สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภทบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่เศษ ต่อมา คณะผู้ริเริ่มสร้างวัดได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินที่ติดต่อเขตวัดถวายเพิ่มเติมอีกประมาณ 60 ไร่เศษ รวมเป็นเนื้อที่ดินทั้งหมด 366 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา เพื่อขอให้สร้างวัด และขอใช้ชื่อว่า “วัดญาณสังวราราม” การสร้างวัดได้ดำเนินการมาโดยลำดับ
วัดญาณสังวราราม ได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ญาณสังวราราม เมื่อปี พ.ศ. 2520 และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสร้างเป็นงวดจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2521 ได้รับการประกาศตั้งชื่อเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2523 และได้รับพระราชทานวิสุงดามสีมา ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2525 (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 43)
ในปัจจุบัน วัดญาณสังวรารามมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 366 ไร่ 2 งาน 11 ตารางวา ไม่รวมถึงพื้นที่โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประมาณ 2,500 ไร่ โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รักษาการเจ้าอาวาส
การสร้างวัดญาณสังวราราม มีจุดมุ่งหมายให้เป็นสำนักปฏิบัติ คือ เน้นทางด้าน สมถและวิปัสสนาและเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ในทางการศึกษาอบรมพระธรรม วินัย รวมทั้งพื่อให้เป็นที่ยังประโยชน์ในการบำเพ็ญอเนกกุศลต่าง ๆ ด้วย
เนื่องจากวัดญาณสังวราราม สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นสมัยที่ยอมรับทั่วไปว่า ความร่มเย็นเป็นสุขของไทย เกิดแต่พระบุญญาธิการแห่งองค์สมเด็จพระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแท้ และสืบเนื่องต่อขึ้นไปถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จบุรพบรมกษัตริยาธิราชเจ้า อีกสองพระองค์ พระผู้ทรงกอบกู้ไทยให้กลับเป็นไท สมัยที่เกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช
ก่อนเข้าไปในพระพุทธคยาเจดีย์ เราเดินเล่นรอบๆ กันก่อน
พระวิหารพระศรีอริยเมตไตรย
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ลักษณะทรงจตุรมุข หลังคามุงกระเบื้อง สร้างเป็นแบบศิลปไทยแท้อันปราณีตบรรจง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ทองเหลือง ปางสมาธิ พระนามว่า พระพุทธศรีอริยเมตไตรย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับ น้อมเกล้าถวายจากคณะผู้สร้าง และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ ไปประดิษฐานในพระวิหารพระศรีอริยเมตไตรยแห่งนี้
จากนั้นเราก็เดินเข้ามายังภายในพระพุทธคยาเจดีย์ สวยมาก ชอบภาพจิตรกรรม มีความร่วมสมัย
จากนั้นเราก็เดินออกไปด้านนอกของพระพุทธคยาเจดีย์
เราเดินมาเรื่อยๆ จนมาเจอสถานที่สำหรับให้อาหารปลาได้
เราเดินมาถึงยัง พระอุโบสถ เมื่อเข้ามาในพระอุโบสถไม่สามารถเดินบนพรมได้นะคะ ต้องคลานเข่าเข้า-ออก เพราะที่นี่คือสถานศักดิ์สิทธิ์
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ ขนาดกว้าง 13.30 เมตร ยาว 21.00 เมตร สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบรีมหาราช โดยดัดแปลงจากแบบพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2523 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณารับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดลูกนิมิตอุโบสถ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงวางศิลาพระฤกษ์พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ ในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2525 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ทรงมีพระมหากรุณา ล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่น ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายวัดญาณสังวราราม การที่ทรงพระราชทานที่ยิ่งใหญ่เกินค่าของทรัพย์สิน อันหาค่ามิได้ทั้งหลายทั้งปวง
พระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ
ได้รับการถวายพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์” สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีขนาดประมาณองค์พระพุทธชินสีห์ในประอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร หน้าพระเพลา 5 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางเททองหล่อ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ณ บริเวณมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร
ฝนตกลงมาค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ
พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์
สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบรมราชวงศ์จักรี มีฐานกว้าง 39.00 เมตร สูง 39.00 เมตร และได้เริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2524 ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ เพื่อการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ชั้นที่สองประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีชนวนจากพื้นปฐพีถึงที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ด้านนอกชั้นที่สามมีซุ้มประดิษฐาน พระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ คือ พระภปร.ด้านหน้า พระไพรีพินาศ (ด้านขวาของพระภปร. ) และพระชินราชสีหศาสดา (ด้านซ้ายของพระ ภปร.) ส่วนชั้นที่ 2 เป็นซุ่มตราพระมหาจักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอันเชิญขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามงกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2525 พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ มีความหมายว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุเพื่อ ความพิพัฒนาสถาพรแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์” น้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมราชวงศ์จักรี มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากประเทศอินเดีย สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูก เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2525
หลังจากเข้าไปในพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ ฝนตกหนักมากๆ จนติดฝนอยู่ในนั้นนานเลย พอฝนเบาลงนิดนึง เราทั้งสามคนจึงรีบไปขึ้นรถกัน
วัดญาณสังวราราม เป็นวัดที่สะอาด เป็นระเบียบ สวยงาม ยิ่งนัก หากมีโอกาสเราจะกลับมาอีก
วัดญาณสังวราราม
เลขที่ 999 หมู่ 11 ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20260
038-237912, 038-238369, 081-586-0188
www.watyanasangvararam.com
The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net