ปฐมอโศก หรือ ชุมชนบุญนิยมปฐมอโศก คือ พุทธสถานปฐมอโศก และหมู่บ้านปฐมอโศกรวมกัน เพราะก่อนที่จะเกิดหมู่บ้าน พุทธสถานเกิดก่อน ตั้งอยู่ที่นครปฐม
ตูนมีความสนใจในกสิกรรมไร้สารพิษ และสมุนไพร ของทางปฐมอโศก เราจึงเดินทางมาที่นี่ จากบ้านแพ้ว มาถึงชุมชนบุญนิยมปฐมอโศก เวลาประมาณ 15.00 น. เรามาจอดรถที่ลานจอดรถของ “ปฐมบุญนิยม” ซึ่งเป็นร้านขายส่งสินค้าชุมชนชาวอโศกทั่วประเทศ เปิด 9.00-16.00 น.
ก่อนที่เราจะเดินเข้าสู่บริเวณด้านใน เราก็มาเดินซื้อของที่ตลาดนัดเสียก่อนแล้ว ข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วย อร่อยมาก (กอ ไก่ ล้านตัว) แนะนำเป็นที่สุด
ความเป็นมาของ ปฐมอโศก
ปฐมอโศกมีพื้นที่ทั้งหมด 90 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนรวมของเนื้อที่ แบ่งเขตเป็นพุทธสถาน และโรงเรียนด้วย เริ่มจากได้รับบริจาคที่ดิน ณ ที่ตรงนี้ประมาณ 6 ไร่ จากคุณเสมอใจ รัตนคุณูประการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ให้สร้างเป็นพุทธสถานด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาการปฏิบัติของ “พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์” ประธานสงฆ์ชาวอโศก ซึ่งขณะนั้นมีหมู่บ้านนักบวชชาวอโศกรวมตัวกันอยู่ที่ “ธรรมสถานแดนอโศก” อ. กำแพงแสน จ. นครปฐม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ก่อนแล้ว จึงอยากให้ขยายพื้นที่ เผยแพร่พุทธศาสนากว้างขวางออกมาในตัวเมืองอีก ญาติโยมชาวอโศกจึงพากันมาช่วยหักร้างถางพง บุกเบิกเปลี่ยนสภาพที่ดินจากความรกร้างว่างเปล่าเป็น ป่าไม้ ต้น ดอก ใบ ลำธาร น้ำตก ฯลฯ ปลูกกุฏิให้สมณะ (นักบวชชาย) สักขมาตุ (นักบวชหญิงที่สมาทานศีล 10) แล้วประกาศเป็นพุทธสาถานปฐมอโศก เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 แต่ยกป้ายชื่อ “พุทธสถาน” ในวันพุธที่ 30 กรกฎาคม 2523 เป็นต้นมา
ด้านชุมชนบุญนิยมปฐมอโศกนั้น ดำริโครงสร้างหมู่บ้านปฐมอโศก ปี พ.ศ. 2526 แล้วเริ่มปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ชุมชนผู้มีศีล” ในยุคนั้น รุ่นที่หนึ่ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2527
การผลิตยาสมุนไพร
ที่นี่มีศูนย์ศึกษาวิจัย และพัฒนาการแปรรูปสมุนไพรปฐมอโศก ผลิตยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ยาแคปซูล ยาผงซอง ยาตลับ และอีกมากมายหลายชนิด รวมทั้งยาสีฟัน ยาดับกลิ่นปาก ยาดับกลิ่นตัว จากห้องเล็กๆ เมื่อปี 2539 มาเป็นตึกใหญ่โตกว้างขวาง อาศัยทุนสนับสนุนจากกองทุนชุมชน ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2543 ด้วยงบประมาณ 25 ล้านบาท มีคนทำงานไม่รับเงินเดือน และรับเพียงส่วนน้อย
เราเดินต่อเข้าไปทางด้านใน หอบหิ้วถุงขนม และถุงสมุนไพร
คุรุใจกลั่น นาวาบุญนิยม
เป็นโชคดีของเราทั้งสอง ได้มีโอกาสพบ คุรุใจกลั่น นาวาบุญนิยม ผู้เป็นทั้งพยาบาล และคุรุ (ครู) ของที่นี่ ท่านได้พาเราเดินชม และอธิบายถึงความเป็นมาของปฐมอโศก
การศึกแบบบุญนิยม
คือ การศึกษาตามนโยบาย และอุดมการณ์ของชาวอโศกที่ประสงค์ให้การศึกษาแบบองค์รวม การศึกษาวิถีพุทธ ให้ผู้มีการศึกษามีความสามารถด้านฝีมือ แรงงาน สติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม โดยเน้นศีลธรรมก่อน
องค์รวมของชุมชนฯ มีอะไรบ้าง
บรรยากาศของชุมชนฯ เป็นสภาพที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ชาวอโศกช่วยกันสร้างขึ้น ให้เป็นธรรมชาติ น้ำตก หาดทราย ต้นไม้ สงบร่มเย็น วิถีชีวิตชาวชุมชนจะต้อง “รวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง ทำที่พึ่งให้สังคม สร้างนาวาบุญนิยม เพื่อกอบกู้มนุษยชน”
ปัจจุบันนี้ จำนวนบ้านในชุมชมทั้งหมด 123 หลัง เป็นบ้านของส่วนกลาง 13 หลัง บ้านที่มีเจ้าของอยู่อาศัย 70 หลัง บ้านทำเวลา (คือบ้านที่เจ้าของต้องมาอยู่แม้ไม่ประจำ ไปๆ มาๆ เป็นระยะๆ ตามระเบียบเข้าพักค้าง หรือเป็นสมาชิกชุมชน 33 หลัง
บ้านในชุมชนจะแบ่งเป็นคุ้มต่างๆ ตามแนวทางถนนหลายสายที่ใช้สัญจร
กฏระเบียบการอยู่ในชุมชน
เนื่องจากชุมชนฯ แห่งนี้ เป็นชุมชนที่คนต้องถือศีลอย่างเคร่งครัด รับประทานมังสวิรัติตลอดชีวิต และมีวัตถุประสงค์ให้เป็นชุมชนแบบอย่างในประเทศไทยที่คนในชุมชนต้องเป็นคนดี ปราศจากอบายมุขทั้งปวง น้อมนำหลักคำสอนในพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นชุมชนแม่แบบของผู้มีศีลที่เห็นชัดเจน
- ผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ต้องอยู่ในพุทธสถานก่อนอย่างน้อย 1 ปี มีฐานงานรองรับ 6 เดือนขึ้นไป
- ต้องวิกัปแจ้งความเป็นอยู่ทุกครั้งในรอบสัปดาห์ให้สมณะ (นักบวชชาย) สำหรับผู้ชาย และสิกขมาตุ (นักบวชหญิง) สำหรับผู้หญิงรับทราบ
- ต้องทำวัตรเช้า สวดมนต์ ฟังธรรม แจ้งอายุต่อการอาศัยเป็นเวลา 6 เดือน
- จึงมีสิทธิ์ขอสมัครเป็นสมาชิกชุมชน
- เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้ จึงมีสิทธิ์ขอซื้อบ้านพร้อมที่ดินในชุมชนได้
การบริหารงานภายในหมู่บ้าน ประกอบด้วย
- กสิกรรมไร้สารพิษ
- การศึกษาบุญนิยม
- อุตสาหกรรมบุญนิยม
- สื่อสาร โลกุตระบุญนิยม
- พาณิชยกรรมบุญนิยม
- สาธารณสุขบุญนิยม
- การบริการเพื่อมวลชน (แบบบุญนิยม)
กิจวัตรประจำวันของผู้ที่อาศัยอยู่ในพุทธสถาน และชุมชนบุญนิยมอโศก ต้องตื่นทำวัตรเช้าตั้งแต่ 3.30 น. เพื่อสวดมนต์ ฟังธรรมเทศนา เสร็จแล้วจึงออกกำลังกาย ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่ ลงทำงานตามฐานงานหน่วยงานที่ตนเลือก ก่อนรับประทานอาหารร่วมกันที่ศาลาฉันเวลาประมาณ 9.00 น. จะต้องฟังธรรมะก่อนฉันร่วมกันที่โรงครัวกลาง
หอลั่นธรรม
อยู่ด้านหน้าศาลาวิหาร เป็นสื่อสารโบราณแท้ๆ ที่อนุรักษ์ไว้ สื่อสารด้วยฆ้อง ระฆัง ส่งสัญญาณให้ตื่น สัญญาณทำวัตร สัญญาณทำกิจกรรมทางศาสนา
กสิกรรมไร้สารพิษ
วิถีชีวิตของชาวชุมชนบุญนิยมแห่งนี้ มีจุดหมายการดำเนินชีวิตอย่าง เศรษฐกิจพอเพียง และบุญนิยม พึ่งตนเองได้ การทำกสิกรรม เกษตรกรรม จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้มีวัตถุดิบสำหรับบริโภคอย่างปลอดภัย ไร้สารพิษ
ภายในชุมชนจึงมีแหล่งเพาะปลูกอยู่หลายแห่ง มีสวนนาถึง 9 ไร่ การเพาะปลูก ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ไม่ใช่วิธีอย่างพืชเศรษฐกิจ
พาณิชยกรรมบุญนิยม
คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการให้ความสะดวกระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค จำหน่ายในราคาถูก ไม่เอาเปรียบคนซื้อ ขายแต่ของที่จำเป็นต่อการบริโภคจริงๆ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย จำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากชุมชน
พุทธสถาน ชุมชนบุญนิยมปฐมอโศก เป็นสังคมชาวพุทธที่น้อมนำเอาคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า สังคมที่มีเพื่อนดี มิตรสหายดี สิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดของชีวิตที่ดี ผนวกกับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้คนไทยดำรงชีวิตด้วยเศรฐกิจพอเพียง สร้างชุมชนที่พึ่งตัวเองได้ เกื้อกูลช่วยเหลือคนอื่น มีศีลธรรมเป็นหลักนำชีวิต มีความขยันหมั่นเพียร
ทางปฐมอโศก จะเปิดรับนักเรียนใหม่ ในเดือนเมษายน หากใครสนใจ สามารถติดต่อที่ คุรุใจกลั่น นาวาบุญนิยม ได้ที่ 085-191-6948 หรือ summapathom@gmail.com มีทุนการศึกษาปีละ 30 คน ที่อยู่อาศัยฟรี
The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net
5 comments