พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คราวเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2500 กรมศิลปากรจึงได้สนองพระราชปรารภจัดสร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาขึ้น

ห้องเครื่องทอง กรุวัดราชบูรณะ (ภายในห้องไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป)

ประวัติการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

เนื่องจากการพบพระพุทธรูป พระพิมพ์ โบราณวัตถุต่างๆ และเครื่องทองคำมีค่าจำนวนมากในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อวันที่ 28 กันยายน – 10 ตุลาคม 2500 เป็นที่สนใจของประชาชน และนักเรียนนักศึกษาเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาทอดพระเนตร เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2500 และทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิบดีกรมศิลปากร ในสมัยนั้นว่า “โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2501 กรมศิลปากรดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ลงไปยังกรุของวัดราชบูรณะซึ่งได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุมีค่าดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งพบที่ผนังกรุทั้ง 4 ด้านได้โดยสะดวก ในการขุดเจาะอุโมงค์นั้นทำให้พบกรุเพิ่มอีก 7 กรุ ทุกกรุมีพระพุทธรูปและพระพิมพ์ดีบุกมากมายนับแสนองค์และซ้ำแบบกัน กระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติให้กรมศิลปากรขอรับบริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยุธยา โดยผู้รับบริจาคได้รับพระพิมพ์เป็นการสมนาคุณ ยอดเงินบริจาคที่ได้รับเป็นเงิน 3,461,982.22 บาท

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504 เวลา 15.30 น.

พิพิธภัณฑ์ได้นามว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะและทรงให้บรรจุเครื่องทองคำและพระพิมพ์จำนวนมากไว้ในนั้น (ข้อมูลจาก หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยกรมศิลปากร)

เศียรพระพุทธรูป

อาคารจัดแสดงมี 3 อาคาร คือ

อาคารหลังที่ 1
เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จมาทรงทำพิธีเปิด การจัดแสดงเป็นลักษณะของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในแหล่งอนุสรณ์สถาน คือ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พบในจังหวัดอยุธยา และจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน

ท้ายสุดของโถงชั้นล่างเป็นพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิแบบทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ซึ่งได้จากวัดนางกุย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับป้อมเพชร ได้ค้นพบพระพุทธรูปแบบทวารวดีหลายองค์ในจังหวัดอยุธยา แต่กลับไม่พบโบราณสถานสมัยทวารวดีเลย ถัดจากพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิไปทางขวามือ หรือบริเวณมุขด้านทิศตะวันตก จัดแสดงพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี ประทับหอยพระบาท พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม

ทางด้านขวาของภาพ คือ พระพุทธรูปศิลาขาว ประทับห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11-12
พระพุทธรูปต่างๆ
พระพุทธรูปต่างๆ ศิลปะอยุธยา
ภายในพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์
พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา

พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจในการสร้างมาจากศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย (ศิลปะลพบุรี) ศิลปะสุโขทัยและศิลปะล้านนา ในระยะแรกเริ่มนั้น ช่างชาวอยุธยาคงสร้างพระพุทธรูปขึ้นโดยวิธีการเลียนแบบจากพระพุทธรูปองค์ต้นแบบ ซึ่งต่อมาช่างอยุธยาได้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบจนได้มาเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาที่มีความสวยและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากต้นแบบ พระพุทธรูปที่จัดเป็นศิลปะอยุธยาอย่างแท้จริง เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนกลางเป็นต้นไป

ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา คือ พระพักตร์ค่อนข้างกลมถึงรูปไข่ แต่ไม่ยาวเหมือนพระพุทธรูปสุโขทัย ขมวดพระเกศาเล็กคล้ายหนามขนุน มีไรพระศกเป็นเส้นเล็กๆ พระรัศมีเป็นรูปเปลว พระขนงโก่ง มีส่วนระหว่างเส้นพระขนงและเปลือกพระเนตป้ายเป็นแผ่น พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างยาว พระโอษฐ์แบะกว้างเกือบเป็นเส้นตรง

พระพุทธรูปในองค์พระมงคลบพิตร

การค้นพบพระพุทธรูปในองค์พระมงคลบพิตร

ใน พ.ศ. 2499-2501 ได้มีการสร้างวิหารคลุมองค์พระมงคลบพิตร และซ่อมแซมองค์พระมงคลบพิตร โดยกะเทาะเอาปูนของเดิมออก แล้วหล่อโลหะเป็นชิ้นๆ นำมาต่อกันเหมือนของเดิม พร้อมทั้งทำสีรมดำ

พบพระพุทธรูปจำนวน 20 องค์บรรจุภายในพระอุทร (ท้อง) ของพระมงคลบพิตร และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พบพระพุทธรูปราวอีก 200 องค์บรรจุภายในพระพาหาซ้ายของพระมงคลบพิตร ปัจจุบันพระพุทธรูปที่ถูกบรรจุไว้ภายในองค์พระมงคลบพิตร ถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่นี่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

พระพุทธรูปต่างๆ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสำริด ศิลปะพุกาม พุทธศตวรรษ 15-18 ขุดพบในกรุวัดราชบูรณะ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสำริด ศิลปะจีน สมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ 18-19 ขุดพบในกรุวัดราชบูรณะ
พระไวโรจนะ วัสดุสำริด ศิลปะชวา พุทธศตวรรษที่ 14 ขุดพบในกรุวัดราชบูรณะ

เศียรธรรมิกราช

เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่นี้เรียกว่า “เศียรธรรมิกราช” เพราะพบที่วัดธรรมิกราชแห่งนี้ แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อแก่” เพราะมีความเคร่งขรึม ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา เป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

“เศียรธรรมิกราช” เหลือเฉพาะส่วนพระพักตร์ที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร พรอบพระพักตร์สี่เหลี่ยม (กรามใหญ่) พระขนงเชื่อมต่อกันเป็นรูปปีกกาและเป็นสันนูน พระเนตรเปิดกว้างเหลือบลงต่ำเล็กน้อย ไม่แสดงดวงพระเนตร พระนาสิกค่อนข้างใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง

กำหนดอายุโดยลำดับวิวัฒนาการทางด้านรูปและสภาพแวดล้อมทางศิลปกรรม อาจกล่าวได้ว่าเศียรธรรมิกราชจัดเป็นศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 สมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นสายที่มีวิวัฒนาการมาจากศิลปะเขมรและศิลปะลพบุรีจากเมืองลพบุรี (ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

เศียรธรรมิกราช
Juth

อาคารหมายเลข 2

เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง สร้างเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น คล้ายอาคารหมายเลข 1 ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2513 ชั้นล่างบริเวณทางเข้าจัดแสดงแผนที่แสดงเส้นทางวัฒนธรรมจากอินเดียมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในห้องจัดแสดงเรื่องเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา เช่น เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยจากพระราชวังหลวง เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยจีน เป็นต้น

อาคารเรือนไทย

เป็นหมู่เรือนไทยปลูกสร้างอยู่กลางคูน้ำ (คลองฉะไกรน้อย) จัดแสดงนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสและวันสำคัญๆ อาทิเช่น วันอนุรักษ์มรดกไทย วันพิพิธภัณฑ์ไทย เป็นต้น และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสันทนาการ

ใครที่ชื่นชอบในพระพุทธรูป แนะนำให้มาชมความสวยงามของศิลปวัตถุที่จัดแสดงอยู่ที่นี่ค่ะ

หนังสือแนะนำ “นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” โดยกรมศิลปากร ปี 2559

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.