วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง ในพื้นที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะแผนผังของวัดสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นวัดกลางเมืองในสมัยอยุธยา
ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า องค์พระปรางค์ประธานได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1917 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม องค์พระปรางค์ได้พังทลายลงมา ต่อมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ใหม่ทั้งหมดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ. 2176
ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 วัดมหาธาตุแห่งนี้ถูกไฟไหม้เสียหายและถูกทิ้งร้าง จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์พระปรางค์ประธานได้พังทลายลงมาอีกครั้งจนเหลือเพียงส่วนฐานอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของเจดีย์ประธาน ตรงข้ามกับวิหารหลวง ตามระเบียบของแผนผังในสมัยอยุธยาตอนต้น อุโบสถหันหน้าไปทางตะวันตก ด้วยเหตุที่แผนผังบังคับเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ที่จะเข้ามาทำพิธีกรรมจากทางด้านตะวันตกอันเป็นเขตสังฆาวาส
หลักฐานของอุโบสถนั้นเหลือเพียงส่วนฐาน เสา และผนังบางส่วนเช่นเดียวกับวิหาร และมีสีมาล้อมรอบทั้งแปดทิศ (ข้อมูลจาก “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
พระพุทธรูปหินทรายในระเบียงคด
แต่เดิมระเบียงคดมีพระพุทธรูปประดิษฐานโดยรอบตามคติเรื่องพระอดีตพุทธเจ้า แต่ต่อมาพระพุทธรูปหินทรายเหล่านี้ชำรุดเนื่องจากทำมาจากหินหลายชิ้นที่นำมาต่อเข้าด้วยกัน ปัจจุบันเหลือสมบูรณ์ให้ศึกษารูปแบบได้เพียง 1 องค์ คือ องค์ที่อยู่ในระเบียงคดด้านทิศตะวันตก โดยรูปแบบแล้วจัดเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย พระพักตร์รูปไข่ จัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่สำคัญคือได้เห็นเทคนิคการทำพระพุทธรูปหินทรายที่นำหินมาจากเมืองลพบุรี มีสลักเป็นชิ้นๆ และเข้าเดือย ภายหลังจึงมีการลงรักปิดทอง (ข้อมูลจาก “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
นอกจากนี้กรมศิลปากรได้เก็บรวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจากวัดต่างๆ มาไว้ที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งส่วนองค์และส่วนเศียร แต่พระเศียรถูกลักลอบนำออกไปเป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงนำส่วนเศียรไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ยกเว้นเศียรพระพุทธรูปเศียรหนึ่งที่ถูกรากต้นโพธิ์ปกคลุมหุ้มพระเศียรไว้ กรมศิลปากรจึงปล่อยไว้ตามธรรมชาติเช่นนั้นจนกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวและกลายเป็น unseen Thailand เศียรพระพุทธรูปเศียรนี้จัดเป็นพระพุทธรูปหินทรายในศิลปะอยุธยาตอนต้น มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 20 (ข้อมูลจาก “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
พระวิหารหลวง
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนท้ายของอาคารเชื่อมต่อกับแนวระเบียงคดที่ล้อมรอบพระปรางค์ประธานเช่นเดียวกับพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือร่องรอยหลักฐาน คือ ส่วนฐานและผนังอาคารด้านทิศใต้ที่เจาะผนังเป็นช่องยาวในแนวตั้งเรียงกันเป็นชุดคล้ายลูกกรงประดับด้วยดอกเหลี่ยมเรียกว่า “ผนังลูกกรงมะหวดเหลี่ยม หรือ ลูกกรงประดับดอกเหลี่ยม” ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น – ตอนกลาง
คติการสร้างวัดมหาธาตุเพื่อเป็นศูนย์กลางของเมืองและพระนคร
คำว่า “มหาธาตุ” หมายถึง พระธาตุสำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า คือพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนในความหมายของมหาธาตุหรือ “วัดมหาธาตุ” คือพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่สุดหรือสำคัญที่สุดของบ้านเมือง เมื่อมีพระธาตุศักดิ์สิทธิ์จึงสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระธาตุนั้นให้เป็นมหาธาตุประจำเมือง เป็นศูนย์กลางของเมืองและมักเรียกว่า “วัดมหาธาตุ” (ข้อมูลจาก “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
การเดินชมวัดจะได้รับความรู้มาก หากได้อ่านหนังสือของอาจารย์ศักดิ์ชัยมาก่อน เหมือนได้มาเห็นของจริง จากสิ่งที่อ่านจากหนังสือ นอกจากนี้ร้านขายของที่ระลึกยังมีหนังสือ “นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” โดยกรมศิลปากร จำหน่ายอีกด้วย
แนะนำหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net