พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม หรือ วังจันทรเกษม หรือ วังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2120 เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์
สามารถจอดรถบริเวณด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ แล้วเดินเข้าไปด้านในเพื่อซื้อบัตรเข้าชม
เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้าง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาและพระราชทานนามว่า “พระราชวังจันทรเกษม” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่าเมื่อ พ.ศ. 2442 และจนกระทั่งเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าจึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน (ข้อมูลจาก ayutthaya.go.th)
พลับพลาจตุรมุข
พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่ใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการและเป็นที่ประทับ ต่อมากลายเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ เรียกว่า อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้ (ข้อมูลจาก ayutthaya.go.th)
ตู้พระธรรมขาหมู
การตกแต่ง: ลายกำมะลอพื้นสีแดงเขียนลายด้วยสีทองเป็นภาพทิวทัศน์แบบจีน แสดงภาพบ้านเมืองและการล่องเรือทางทะเลา
ฝีมือช่าง: รัตนโกสินทร์
ประวัติที่มา: พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวม
ตู้พระธรรมขาหมู (ภาพด้านบน)
การตกแต่ง: ลายกำมะลอพื้นสีดำเขียนด้วยสีทองและระบายสีแดง เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก
ฝีมือช่าง: รัตนโกสินทร์
ประวัติที่มา: พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวม
เครื่องปั้นดินเผา สินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา
ตลอดระยะเวลาที่อาณาจักรอยุธยาเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลายาวนานถึง 417 ปี อยุธยานับเป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ มีชาวต่างชาติเดินทางมาค้าขายอย่างมากมาย อยุธยาส่งออกสินค้าจำพวกของป่าจากภูมิภาคส่วนในและเพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งรับสินค้าจากเมืองท่าชายฝั่งทะเลาแถบแหลมมลายู และบริเวณคาบสมุทรค้าส่งต่อให้พ่อค้าชาวจีนและชาติอื่นๆ พร้อมกันนั้นยังเป็นตัวกลางในการส่งต่อสินค้าจีนให้แก่ชาติอื่นด้วยเช่นกัน และในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อยุธยาส่งออกเครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย ศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) และเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี เตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี ไปสู่ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการส่งต่อสินค้าประเภทนี้ไกลออกไปถึงตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น หลักฐานจากซากอับปางในอ่าวไทย ได้พบเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก การค้าเครื่องปั้นดินเผาจึงจับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของอาณาจักรอยุธยามั่งคั่งและส่งผลต่อสภาพการดำเนินชีวิต (ข้อมูลจากป้ายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม)
พระพุทธรูปปางลีลา แกะสลักบนแผ่นหินทรายสีเทารูปใบเสมาขนาดใหญ่ ด้านหลังมีศิลาจารึกอักษรไทย ภาษาไทยสมัยอยุธยา จำนวน 20 บรรทัด จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1918 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) ซึ่งครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ. 1913 – 1931 นับได้ว่าเป็นศิลาจารึกภาษาไทย อักษรไทย สมัยอยุธยาที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่พบในเวลานี้ (ข้อมูลจากป้ายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม)
The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net