วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา

ประวัติการสร้างวัดไชยวัฒนารามมีในพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ตรงกันว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสถาปนาวัดนี้ใน พ.ศ. 2173 โดยสร้างขึ้นบริเวณที่เป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อยุธยาที่เกี่ยวข้องกับการสถาปนาวัดนี้ช่วงที่มีการผลัดแผ่นดิน

กล่าวคือ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงดำรงตำแหน่งเป็นออกญากลาโหมสุริยวงศ์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต ออกญากลาโหมเป็นประธานของเสนาอำมาตย์ทูลเชิญพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราช ขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา หลังจากนั้น 4 เดือนเศษ มารดาของออกญากลาโหมถึงแก่กรรม จัดการปลงศพ ณ วัดกุฏธาราม (อยู่บริเวณเดียวกับวัดไชยวัฒนาราม) เหล่าขุนนางน้อยใหญ่ต่างไปช่วยงานเป็นจำนวนมาก ข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระเชษฐาธิราช กราบทูลว่าออกญากลาโหมซ่องสุมผู้คนอาจคิดก่อการกบฏ จึงมีรับสั่งให้ทหารไปจับกุมตัวออกญาฯ แต่ออกญากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อน จึงรวบรวมเหล่าขุนนางทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ และจับกุมสมเด็จพระเชษฐาธิราชสำเร็จโทษตามโบราณราชประเพณี แต่ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ไม่ยอมรับราชบัลลังก์ เหล่าขุนนางจึงสถาปนาสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาสมเด็จพระเชษฐาธิราชซึ่งมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษาขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์นักจึงมิได้ออกว่าราชการ ท้ายที่สุดเหล่าขุนนางจึงอันเชิญออกญากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต้นราชวงศ์ปราสาททอง พระองค์จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ บริเวณที่เป็นนิวาสสถานเดิมของพระราชชนนี ให้สถาปนามหาธาตุเจดีย์ มีพระระเบียงรอบ และมุมพระระเบียงทำเป็นเมรุทิศ เมรุราย และพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ ทั้งสร้างกุฏิถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า “วัดไชยวัฒนาราม” และถวายสถาปนาพระอชิตเถระ ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

วัดไชยวัฒนาราม

เรามาถึงที่นี่ประมาณ 13.00 น. จอดรถทางด้านหน้า ด้วยความดังของละคร บุพเพสันนิวาส ทำให้นักท่องเที่ยวมักแต่งตัวย้อนยุคมาถ่ายรูปกันที่วัดนี้ สามารถเช่าได้ที่บริเวณด้านหน้าของวัด จะมีร้านที่ให้บริการเช่าชุดอยู่เป็นจำนวนมาก

วัดไชยวัฒนาราม

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการสถาปนาวัดไชยวัฒนาราม คือ ประการแรก สร้างวัดนี้เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระราชชนนี ประการที่ 2 ลักษณะแผนผังวัดและรูปแบบเจดีย์ย้อนกลับไปเลียนแบบวัดในสมัยอยุธยาตอนต้นที่ใช้เจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัดและมีระเบียงคดล้อมรอบที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมของเขมร มีเมรุทิศ เมรุรายที่อาจเกี่ยวข้องกับคติศูนย์กลางจักรวาลและความเป็นจักรพรรดิราชขอพระเจ้าปราสาททองด้วย (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานรอบระเบียงคด

แม้ว่าวัดนี้จะย้อนกลับไปใช้รูปแบบของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่รูปแบบของปรางค์กลับมีลักษณะที่พัฒนาไปจากอยุธยาตอนต้นมาก โดยเฉพาะปรางค์ประธานมีลักษณะใกล้เคียงกับปรางค์ประธานวัดวรเชษฐ์ กล่าวคือ มีชุดฐานบัวลูกฟัก 3 ชั้น

ส่วนสำคัญที่มีพัฒนาการแตกต่างจากปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ ส่วนยอดที่เป็นเรือนชั้นซ้อนไม่ทำระบบเสาตั้งคานทับแล้ว แต่ใช้ระบบคอดล่างผายบน ไม่มีช่องวิมาน โดยส่วนช่องวิมานและบรรพแถลงก่อรวมเป็นส่วนเดียวกัน (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

เมรุทิศ

ระเบียงคดและเมรุทิศ เมรุราย (เมรุมุม)

ระเบียงคดสร้างล้อมรอบเจดีย์ประธาน มีเมรุคืออาคารทรงประสาทประจำทิศทั้งสี่และประจำมุมทั้งสี่ ทั้งหมดมีรูปแบบเดียวกัน รอบระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ที่สำคัญคือภายในเมรุทั้งหมดประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ระเบียงคด (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)

ปรางค์ประธาน
พระพุทธรูปแบบไม่ทรงเครื่อง
เมรุราย
เมรุราย ประจำมุม
พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ
ภายในเมรุราย (เมรุมุม)

พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ

พระพุทธรูปทุกองค์มีรูปแบบและขนาดเดียวกันทั้งหมด เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนและลงรักปิดทอง (พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ) ปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ที่ประดับลวดลายสวยงาม

"คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา" โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
“คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์

เพื่อให้การเดินเที่ยวชมวัดไชยวัฒนารามให้สนุกและได้รับความรู้ เจแนะนำหนังสือของอาจารย์ศักดิ์ชัยค่ะ เจเป็นแฟนคลับของอาจารย์ มีหนังสือของอาจารย์เกือบทุกเล่มค่ะ

The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.