หมู่บ้านญี่ปุ่น (アユタヤ日本人町, Ayutaya Nihonjin-machi) เป็นชุมชนทางชาติพันธุ์ญี่ปุ่นในอดีต (นิฮมมาจิ) นอกเมืองหลวงของอาณาจักรอยุธยาที่เจริญรุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันอยู่ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (Wikipedia)
เรามาถึงที่นี่ประมาณเวลา 14.00 น. เข้ามาด้านใน จอดรถบริเวณด้านหน้า แล้วมาซื้อบัตรเข้าชมที่จุดจำหน่ายบัตร เป็นอีกครั้งที่การอ่านหนังสือของ อ.ศักดิ์ชัย ช่วยให้การมาเที่ยวชมสนุกขึ้น
ตามประวัติศาสตร์กล่าวถึงชาวญี่ปุ่นว่าได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ 1 ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกนี้เดินทางมาจากอาณาจักรริวกิวบนหมู่เกาะโอกินาวา เข้ามาติดต่อค้าขายและเริ่มตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้นจึงมีการขยายหมู่บ้านให้ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ญี่ปุ่นเกิดปัญหาการเมืองภายในและกีดกันการนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก กลุ่มสำคัญคือกลุ่มโรนินหรือนักรบที่เจ้านายหมดอำนาจลง ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้รับราชการและเป็นทหาร บางช่วงเวลาชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มีบทบาททางการเมืองด้วย (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
ในส่วนของบทบาททางการค้าของชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา มีหลักฐานที่กล่าวถึงสินค้าที่ญี่ปุ่นซื้อจากอยุธยา ได้แก่ ของป่า ไม้ฝาง ไม้กฤษณา หนังกวาง หนังปลาฉลาม หนังวัว ส่วนสินค้าที่อยุธยาซื้อจากญี่ปุ่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากทองแดง ขวดยา หม้อ ตะเกียง กระดาษ และอาหารแห้งสำหรับชนชั้นสูง เช่น หูฉลาม ปลาแห้ง สาหร่าย เกาลัด เหล้า ใบชา เป็นต้น (ข้อมูลจากหนังสือ “คู่มือนำชม ศิลปกรรมโบราณในอยุธยา” โดยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์)
การพัฒนาและฟื้นฟูหมู่บ้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2476 นายมิกิ ซาไก และ ดร. ฮิกาชิ อนนะ คันจุง ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น เข้ามาศึกษาข้อมูลชาวญี่ปุ่นในอยุธยา ได้ขออนุญาตรัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรเพื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่นบริเวณวัดสิงห์ ซึ่งเป็นวัดร้าง ได้พบหลักฐานสำคัญบริเวณที่เป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้ คือ ฐานอาคารที่ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 15 เมตร และพบโบราณวัตถุราว 200 ชิ้น โบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เศษดาบ เหรียญโบราณ เสื้อเกราะ โซ่เหล็ก มีด เศษภาชนะต่างๆ เป็นต้น
ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ)
ท่านเป็นชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เกิดราวปลายคริสต์ศตวรรษ ที่ 16 อาศัยอยู่ที่เมืองซุรุงะ ในเขตจังหวัดซิซูโอกะในปัจจุบัน
ราว พ.ศ. 2155 ได้เดินทางด้วยเรือสำเภาจากญี่ปุ่นมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเป็นพ่อค้าคนกลาง ส่งสินค้าจากอยุธยาไปขายยังต่างประเทศด้วยเรือสำเภา และเป็นผู้สนับสนุนความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เช่นเมื่อครั้งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ส่งราชฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น
พ.ศ. 2164 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น บังคับบัญชาทหารรับจ้างญี่ปุ่น
พ.ศ. 2171 ได้รับการแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข จนถึงปี พ.ศ. 2173 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างหมู่บ้านญี่ปุ่นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น มีการสร้างอาคารที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นสมัยอยุธยา รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกอาคารให้มีบรรยากาศแบบหมู่บ้านญี่ปุ่น ภายในอาคารจัดแสดงเรื่องราวที่สำคัญ คือ ประวัติความเป็นมาของชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในอยุธยา
ท้าวทองกีบม้า กับตำนานของหวานตระกูล “ทอง”
ท้าวทองกีบม้า เป็นชาวอยุธยา ลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น มีชื่อว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (Maria Guyomar de Pinha) บิดาชื่อฟานิก กียูมาร์ (Fanik Guyomar) มีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล มารดาชื่อ อูร์ซูลา ยามาดะ (Ursula Yamada) ชาวญี่ปุ่น ทั้งสองคนนับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกและอพยพมาอยุธยา เนื่องจากถูกกีดกันเรื่องการนับถือศาสนา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ตรงข้ามหมู่บ้านญี่ปุ่น
คนไทยรู้จักท้าวทองกีบม้าในฐานะต้นตำรับขนมตระกูลทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
พ.ศ. 2225 มารี วัย 16 ปี สมรสกับออกญาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เสนาบดีกรมท่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พ.ศ. 2231 เกิดการยึดอำนาจ ผลัดแผ่นดิน ออกญาวิชาเยนทร์ ต้องโทษประหารชีวิต สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ มาดามฟอลคอนถูกจับและคุมขังนาน 2 ปี
ในบั้นปลายชีวิต มาดามฟอลคอนได้ถวายตัวรับราชการเป็นวิเสทประจำห้องเครื่องในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ตำแหน่ง ท้าวทองกีบม้า และมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินที่เป็นเขตหมู่บ้านญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. 2478 กองเรือรบญี่ปุ่นได้สร้างศาลของยามาดา นางามาซะ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
อย่าลืมซื้อหนังสือของ อ.ศักดิ์ชัย มาอ่านประกอบการเที่ยวนะคะ
The photographs may not be copied, reproduced, redistributed, manipulated, projected, used or altered in any way without the prior express written permission of Juth.Net