วัดหน้าพระเมรุ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 2046 ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” แต่ประชาชนส่วนมากนิยมเรียกกันว่า “วัดหน้าพระเมรุ”
วัดหน้าพระเมรุ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้ใช้สถานที่แห่งนี้เจรจาสงบศึก เมื่อปี พ.ศ. 2006 และในอีกตอนหนึ่งเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอะลองพญามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2303 พม่าได้เอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดเมรุราชิการาม กับวัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ได้แตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระห่างทาง
ด้วยบุญญาธิการอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งหลวงพ่อพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในอุโบสถ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากข้าศึกตลอดมา สมควรที่ประชาชนชาวไทยทั้งหลายมานมัสการ ชมพระบารมีซึ่งยังมีพระลักษณะคงสภาพเดิมอยู่ทุกส่วน ซึ่งเป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกพม่าทำลายในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ความสำคัญทางปูชนียสถานและวัตถุ
- พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถหล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทองปางมารวิชัย ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ หน้าตักกว้าง 9 ศอกเศษ สูง 6 เมตรเศษ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง มีพระลักษณะงดงาม พระนามบ่งชัดถึงพระลักษณะอันพิเศษ มีพระภินิหารเป็นสรณะที่พึ่ง ที่เคารพสักการะอย่างยิ่งแก่โลกทั้ง 3 เกิดปิติศรัทธาแก่ผู้ได้เข้านมัสการ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้าน คู่เมือง และคุ้มครองบ้าน คุ้มครองเมือง ทำให้ข้าศึกเกิดความเกรงกลัวไม่ทำลายวัดนี้ได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ควรแก่การที่จะมานมัสการอย่างใกล้ชิดทีเดียว สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
- พระคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ประดิษฐ์สถานอยู่ในพระวิหารสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อศิลาเขียวแกะสลัก ประทับนั่งห้อยพระบาท ประทับบัลลังก์ ปางปฐมเทศนา หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร สูง 520 เมตร เป็นพระพุทธรูปศิลาที่ใหญ่ที่สุด มีลักษณะที่งดงามองค์หนึ่งในโลก อายุประมาณ 1,500 ปี ในศิลาจารึก พระยาไชยวิชิตได้ย้ายมาจากวัดมหาธาตุ ในเกาะเมืองอยุธยา และว่ามาจากประเทศลังกา เมื่อคราวที่พระอุมาลีเป็นสมณฑูต พร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐ์ฐานในประเทศลังกา
- พระอุโบสถ สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค ล้อมรอบด้วยหมู่เทพพนม จำนวน 26 องค์ ภายในพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยม 2 แถวๆ ละ 8 ต้น เสามีลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีบัวหัวเสาเป็นลักษณะบ่งชัดว่าเป็นแบบอยุธยา เพดานเป็นไม้แกะสลักเป็นรูปดวงดาวสลับซับซ้อนสวยงามมาก ลักษณะของพระอุโบสถรวมเป็นรูปสำเภากว้าง 16 เมตร ยาว 50 เมตร ไม่มีหน้าต่าง เจาะผนังเป็นช่องลม เพื่อให้มีแสงสว่างและมีอากาศถ่ายเท ไม่อับ เป็นลักษณะของพระอุโบสถในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
พระปรางค์
ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ องค์ปรางค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นเรือนธาตุ ทางด้านหน้าเจาะช่องประตูเข้าสู่ห้องด้านใน ส่วนอีกสามด้านที่เหลือก่อเป็นซุ้มตัน ปัจจุบันองค์ปรางค์ชำรุดเหลือเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุส่วนล่าง
เครื่องหมายแสดงเขตใช้ปักรอบอุโบสถ โดยเสมาของวัดหน้าพระเมรุนี้เป็นเสมาสมัยอยุธยาตอนต้น สลักจากหินชนวนสีเทา มีขนาดใหญ่และหนา ลักษณะค่อนข้างตรง คือ ส่วนเอวคอดเข้าไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่มีการตกแต่งลวดลายมากนักนอกจากเส้นที่นูนเป็นเส้นตรงกลางเท่านั้น